หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2555

การวาดเขียน (Drawing)

พื้นฐานเบื้องต้นของศิลปกรรม ตลอดจนถึงการออกแบบทุกชนิด ก็คือ การวาดเขียนหรือวาดเส้น ซึ่งศิลปินผู้สร้างจะต้องบันทึกความรู้สึก จินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ ออกมาในลักษณะของงานวาดเส้น เป็นรูปธรรมชัดเจน วัสดุสำหรับบันทึกเรื่องราวเหล่านี้มักไม่จำกัดวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างชัดเจน หากแต่ว่าศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานเป็นผู้เลือกใช้ตามความถนัดของตน อาจเป็นดินสอสีต่างๆ บนกระดาษ หรือเงินแหลมบนหนังสัตว์ แม้กระทั่งการขูดขีดบนพื้นผนังถ้ำต่างๆ ฯลฯ

ศิลปินต่างๆ ที่มีผลงานวาดเส้นให้ปรากฏแก่สายตาคนทั้งโลกนั้น หากพิเคราะห์ถึงสาเหตุแล้วพอจะสังเขปได้ว่า เขียนขึ้นเพื่อเป็นภาพร่างเพื่อใช้แก้ไขหรือปรับปรุงงานจริง, หรือเพื่อเป็นเสก็ตงานต้นแบบ รวมแล้วผลงานวาดเส้นเหล่านี้ล้วนแต่เป็นรูปแบบของศิลปินผู้สร้าง หากงานจริงๆ กลับเป็นผลงานอยู่บนเพดานโบสถ์บ้าง ฝาผนัง พระราชวังบ้าง ซึ่งเป็นผลงานสีลงน้ำมันอย่างวิจิตรก็มี เช่น ผลงานของไมเคิล แองเจโล และลีโอนาร์โด ดาวิน ชี

เป็นข้อเท็จจริงประการเดียวที่ว่า งานศิลปที่ศิลปินได้รังสรรค์ไว้อย่างงดงามนั้นไม่สามารถจะนำมาแบ่งปันแก่ผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปินเหล่านั้นได้ จึงเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปที่ชื่นชมศิลป จึงหวังจะได้ผลงานภาพร่างต้นแบบไปเป็นสมบัติส่วนตน จึงทำให้ผลงานศิลปที่เป็นภาพร่างลายเส้นของศิลปินที่มีชื่อเสียงหลายคนในโลกนี้ ราคาแพง และมีค่ามากขึ้น

ในสยามประเทศของเราก็เล็งเห็นถึงผลของการเรียนวาดเขียนเป็นอย่างดีจึงบังคับให้นักศึกษาที่ศึกษาศิลปด้านจิตรกรรม, ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ต้องเรียนรู้ถึงการวาดเส้นพิ้นฐานเบื้องต้นก่อน หลายๆ โรงเรียนได้บรรจุการวาดเส้นพื้นฐานไว้สำหรับนักศึกษาปี 1 ซึ่งเป็นการสมควร แต่เท่าที่สังเกตเห็นบางทีผู้สอนมักจะให้นักศึกษาเขียนภาพยากๆ ก่อนโดยไม่วางแนวพื้นฐานให้ดี เป็นเหตุให้นักศึกษาเบื่อวิชา Drawing ไปเลยก็มี ในระดับปวช.ที่โรงเรียนของผู้เขียน (อาจารย์เศรษฐมันทตร์ กาญจนกุล) ได้วางหลักไว้ชัดเจน ทดสอบเรียนกันมาหลายปีนักศึกษาก็ไม่บ่นว่าเบื่อวิชานี้ ผู้เขียนเลยนำแนวทางง่ายๆ ที่เป็นเอกสารแจกของอาจารย์ผู้สอนประจำวิชามาลงไว้เป็นพื้นฐาน เช่น การเขียนหุ่นรูปทรงเรขาคณิต วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม หกเหลี่ยม โดยให้สังเกตแสง-เงา เป็นตัวกำหนดน้ำหนัก หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ฝึกหุ่นในลักษณะต่างๆ กัน ดังจะอธิบายโดยภาพในบทความถัดไป

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่มีรายชื่อผู้จัดทำ ภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

    ตอบลบ